วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2556

ศาสตร์แห่งการล้อเลียน

ศาสตร์แห่งการล้อเลียน



     ถ้าจะพูดถึงการล้อเลียนหลายคนก็จะนึกถึงการแสดงของนักแสดงตลก การแสดงละคร หรือแม้แต่การประชดในอีกแบบหนึ่งนั่นเอง แต่ว่าสำหรับกระผมเองการล้อเลียนมีความหมายลึกซึ้งมากกว่านี้มากนัก ดังนั้นในบทความนี้ผมจะเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการล้อเลียนในทัศนะของผมให้ทุกท่านได้พิจารณากันว่าจริงหรือเท็จ ดีหรือห่วย ประการใดบ้าง



ความหมายของการล้อเลียน


     การล้อเลียน คือ การสวมบทบาทเป็นบุคคลอีกคนหนึ่งซึ่งไม่ใช่ตัวเราเอง เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง มีลักษณะเฉพาะ และเป็นที่จดจำของบุคคลจำนวนมากหรือเป็นคนที่รู้จักคุ้นเคยกันดี ในการล้อเลียนจะต้องเลียนแบบทั้งการพูด น้ำเสียง ท่าทางการเดิน หรือแม้แต่กระทั่งสายตา



จุดประสงค์ของการล้อเลียน

     "การกระทำใดๆย่อมมีจุดประสงค์ " การล้อเลียนก็เช่นกัน คือ เพื่อเป็นการแสดงให้เกิดความบันเทิง หรือเป็นการหวังผลโฆษณาชวนเชื่อ การเสียดสีแสดงความไม่พอใจ หรืออาจเป็นการแสดงถึงความชื่นชอบเป็นการส่วนตัวก็ได้



สิ่งจำเป็นในการล้อเลียน

สิ่งที่ต้องมีถึงจะสามารถล้อเลียนได้อย่างแยบยลและแนบเนียน มีดังนี้

๑.ความจำดี การที่จะล้อเลียนบุคคลอื่นได้คุณจะมีความจำที่ดีเป็นพิเศษ เพราะคุณต้องใช้จดจำเรื่องของบุคคลคนนั้นมากเป็นพิเศษ แม้กระทั้งชีวิตประจำวันของคนๆนั้น

๒.ความคิดสร้างสรรค์ การที่จะล้อเลียนบุคคลอื่นได้ คุณต้องมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีจินตนาการ นึกถึงลักษณะท่าทางของคนคนนั้น รวมทั้งวิธีคิดของเขาด้วย และสามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างแนบเนียน

๓.ไหวพริบปฏิภาณ การล้อเลียนจะต้องคิดเร็วทำเร็วไม่เชื่องช้า ไม่หยุดชะงัก หรือแม้แต่ใช้เวลาคิดนานเกินไปเพราะจะทำให้การล้อเลียนที่ออกมานั้นทื่อไร้อารมณ์

๔.ช่างสังเกต ฟังมากกว่าพูด ดูแล้วก็คิด นี่ถือเป็นหัวใจหลักของการล้อเลียนก็ว่าได้ เพราะถึงแม้จะมีความจำดี ความคิดสร้างสรรค์ และไหวพริบปฏิภาณแล้ว หากคุณขาดสิ่งนี้ไปคุณก็ได้เป็นแค่คนที่มีIQสูงเท่านั้น แต่การที่เป็นคนช่างสังเกตแล้วคิดตามจะทำให้คนเป็นคนคิดไว คิดเร็ว และคิดรอบคอบ บวกกับการมีความจำที่ดีคุณก็จะสามารถจำสิ่งที่เห็นสิ่งที่ได้ยินขณะใดขณะหนึ่งได้อย่างชัดเจน



หลักแห่งการล้อเลียน

     การจะล้อเลียนใครก็ตาคุณจะต้องคำนึงถึงสิ่งดังต่อไปนี้ด้วย คือ

๑.กาลเทศะ การจะล้อเลียนใครคุณจะต้องมีจังหวะและโอกาสก่อนจึงจะทำการได้ มิเช่นนั้นจะกลายเป็นการเสียมารยาทได้

๒.เปิดใจให้กว้าง การที่คุณจะล้อเลียนครก็ตามคุณต้องคิดอยู่เสมอว่า "เมื่อคุณคิดจะล้อเขาได้ เขาก็คิดจะล้อคุณได้เช่นกัน" ดังนั้นคุณจะต้องยอมรับความจริงว่าคุณเองก็ถูกล้อได้ทุกเมื่อ

๓.นึกถึงใจเขาใจเรา คนทุกคนย่อมมีสิ่งที่ไม่อยากให้คนอื่นรู้ ดังนั้นเมื่อคุณรู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไรคุณก็ไม่ควรจะล้อเลียนในเรื่องนั้นๆเพราะจะทำให้เขารู้สึกอับอาย และอาจเกิดความเสียหายขึ้นได้



ผลประโยชน์ที่คาดไม่ถึงสำหรับการล้อเลียน

      การล้อเลียนนั้นถือเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะมันมีประโยชน์นอกเหนือจากการให้ความบันเทิงด้วย คือ ทำให้ผู้ที่ทำการล้อเลียนเป็นคนสุขุมรอบคอบ เข้าใจความคิดของผู้อื่นได้มากขึ้น รู้จักปรับตัวตามสถานการณ์ รู้ข้อที่ควรทำและไม่ควรทำในการเข้าสังคม ส่วนประโยชน์ต่อผู้ถูกล้อก็มีเช่นกัน คือทำให้รู้ว่าตัวเองมีจุดด้อยหรือจุดบกพร่องตรงไหนเพื่อที่จะได้ปรับปรุงแก้ไขตัวเอง เพราะว่าคนเราส่วนมากมักคิดเข้าข้างตัวเองจึงไม่เห็นจุดบกพร่องของตัวเองได้ แต่เมื่อมีคนแสดงออกมาให้เห็นย่อมจะทำให้รู้สึกตัวและตระหนักขึ้นมาได้บ้าง(สำหรับคนที่รู้จักยอมรับความจริง) ดังนั้นการล้อเลียนจึงมีประโยชน์ต่อทั้งสามฝ่ายคือ ผู้ทำการล้อเลียน ผู้ถูกล้อเลียน และผู้ดู



สุดท้ายและลาจาก
      สำหรับบทความเรื่อง"ศาสตร์แห่งการล้อเลียน"นี้ ผู้เขียนได้เขียนจากทัศนะคติ และประสบการณ์จริงของผู้เขียนเอง ซึ่งตัวผู้เขียนเองก็ถือเป็นนักล้อเลียนตัวยงด้วย ดังนั้นจึงอยากจะขยายความเกี่ยวกับการล้อเลียน และแก้ไขจุดที่หลายคนเข้าใจผิดกัน หวังว่าบทความนี้จะทำให้ผู้อ่านได้เขาใจถึงการล้อเลียนว่า ไม่ว่าจะถูกล้อเลียนในรูปแบบใด นั่นหมายถึงตัวคุณเองมีความสำคัญมาก เขาจึงหยิบยกคุณมาล้อเลียน เพราะคงไม่มีใครจะไปล้อเลียนคนที่ไม่มีใครรู้จักหรอกครับ......................สวัสดีครับ



คำเตือน!!!โปรดอ่านจากซ้ายไปขวา


คนตกดิน

สังคมแห่งการผูกมัด

สังคมแห่งการผูกมัด



       มาจะกล่าวบทไปถึงการผูกมัดมันก็มีอยู่กับสังคมมนุษย์ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้วล่ะครับ ไม่ว่าจะเป็นการต้องอยู่กับกลุ่ม การที่ต้องกิน ต้องหลับต้องนอน หรือแม้แต่ความกลัวในสิ่งอื่นๆก็ดีนี่คือการผูกมัดทั้งสิ้น แต่นี่คือสิ่งที่ธรรมชาติผูกมัดไว้ซึ่งไม่ใช่ผลเสียต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่แน่นอนว่ายิ่งนานวันเข้ามนุษย์ก็วิวัฒนาการจากรวมกลุ่มกันเล็กๆ ก็มาเป็นหมู่บ้าน เป็นเมือง เป็นประเทศ ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ การติดต่อกันพบปะสังสรรค์กันก็เกิดมากขึ้นตามไปด้วย นี่แหละครับคือจุดที่ทำให้สังคมเกิดการผูดมัดมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราคุ้นเคยกันดีกับคำว่า"ค่านิยม"



ความหมายของคำว่า"ค่านิยม"

คำว่า “ค่านิยม” มีผู้ให้ความหมายมากมาย อาทิเช่น

- ก่อ สวัสดิ์พานิช (2535) ได้กล่าวว่า ค่านิยม เป็นความคิด พฤติกรรมและสิ่งอื่นที่คนในสังคมหนึ่งเห็นว่า มีคุณค่า จึงยอมรับมาปฏิบัติและหวงแหนไว้ระยะหนึ่ง ค่านิยมมักเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัยและความคิดเห็นของคนในสังคม

- พนัส หันนาคินทร์(2537) กล่าวถึงความหมายของค่านิยมไว้ว่า เป็นการยอมรับนับถือและพร้อมที่จะปฏิบัติตามคุณค่าที่คนหรือกลุ่มคนในสังคม มีต่อสิ่งต่างๆ อาจเป็นวัตถุ ความคิดหรือการกระทำในด้านต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ สังคม ทั้งนี้ ได้มีการประเมินค่าจากทัศนะต่างๆ โดยรอบคอบแล้ว

- Phenix (1992) ให้นิยามว่า “ค่านิยมคือความชอบ ความสามารถจำแนกให้ความเห็นความแตกต่างของความชอบกับกับความไม่ชอบได้โดยการประเมินผล”

- Ruch (1992) กล่าวไว้ว่า ค่านิยมเป็นแรงจูงใจอันสำคัญที่มีต่อจุดมุ่งหมายในชีวิตจุดมุ่งหมายใดของชีวิตได้มาแล้วคุ้มค่า เราจะกล่าวว่าจุดมุ่งหมายนั้นมีค่านิยมสูง ถ้าจุดมุ่งหมายใดได้มาแล้วไม่คุ้มค่า จุดมุ่งหายนั้นมีค่านิยมในระดับต่ำ สิ่งใด ที่บุคคลพยายามหลีกเลี่ยง แสดงว่า บุคคลนั้นมีค่านิยมที่ไม่ดีหรือมีค่านิยมในทางลบต่อสิ่งนั้น ค่านิยมจึงมีบทบาทและอิทธิพลต่อพฤติกรรมของบุคคล

- Miller (1995) ได้อธิบายว่า ค่านิยมเป็นเจตคติและความเชื่อที่ฝังลึกในชีวิตของบุคคลและมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของบุคคลในทุกด้าน จากพฤติกรรมที่เห็นได้ง่าย อาทิเช่น การแต่งกายไปจนถึงพฤติกรรมที่ซับซ้อน อาทิเช่น การแสดงความคิดเห็น การเลือกคู่ครอง ความยุติธรรม เป็นต้น



ประเภทของค่านิยม

1. ค่านิยมทางสังคม (Social Values) เป็นค่านิยมที่ช่วยให้เกิดความรักความเข้าใจและ ความต้องการของอารมณ์ของบุคคล

2. ค่านิยมทางวัตถุ (Material Values) เป็นค่านิยมที่ช่วยให้ชีวิตร่างกายของคนเรา สามารถดำรงอยู่ได้ต่อไป ได้แก่ ปัจจัยสี่ คืออาหาร ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า และยารักษาโรค

3. ค่านิยมทางความจริง (Truth Values) เป็นค่านิยมเกี่ยวกับความจริงซึ่งเป็นค่านิยมที่ สำคัญยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการความรู้ และนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการค้นหากฎของธรรมชาติ

4. ค่านิยมทางจริยธรรม (Moral Values) เป็นค่านิยมที่ทำให้เกิดความรับผิดชอบชั่วดี

5. ค่านิยมทางสุนทรียะ (Aesthetic Values) เป็นความซาบซึ้งใจในความดีและความงาม ของสิ่งต่างๆ

6. ค่านิยมทางศาสนา (Religious Values) เป็นค่านิยมที่เกี่ยวกับความปรารถนาความเชื่อความศรัทธา



      แน่นอนครับว่าค่านิยมเหล่านี้เนี่ยมีส่วนสำคัญต่อการดำเนินชีวิตขอมนุษย์ บางสังคมบางค่านิยมชี้เป็นชี้ตายบุคคลนั้นๆได้เลย และเหนือกว่าค่านิยมก็คือความเชื่อนั่นเอง เช่น ในยุคกลางมีการกวาดล้างหญิงสาวจำนวนมากด้วยการกล่าวหาว่าเป็นแม่มด ซึ่งความจริงนั้นหญิงสาวจำนวนมากอาจจะไม่ได้เป็นแม่มดจริงๆก็ได้ แต่ก็มีการสังเวยชีวิตไปมากเลยทีเดียว ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เกิดจากการเข้าใจกันผิดๆใช้ความคิดของคนหม่มากตัดสินใจในเรื่องนั้นๆ ดังนั้นค่านิยมนั้นเองไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป และตรงกันข้ามคนที่เดินตามค่านิยมมากเกินไปก็จะถูกเรียกว่า"ตามกระแสอีกด้วย" ซึ่งมันก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีเท่าไหร่นักเพราะทำให้ขาดการตัดสินใจและไม่เป็นตัวของตัวเอง




การผูกมัดที่ดิ้นไม่หลุดและพยายามไม่ดิ้น

     การผูกมัดในสังคมมีมากมายเลยล่ะครับ เรียกว่าตื่นนอนก็เจอ อาบน้ำก็เจอ ทานเข้าก็เจอ จะหลับก็เจออีก เผลอๆใกล้จะตายก็ยังเจอเสียด้วยซ้ำ เรียกว่าการผูกมัดของมนุษย์นั้นทำให้เรา"ช้ำเลือดช้ำหนอง"พอสมควร เพราะอะไรน่ะเหรอครับ จะกระดิกตัวก็เป็นไปจะทำอะไรก็เข้าเค้ามันก็ติดที่วังวนค่านิยม บางคนก็อาจถึงขั้น"ตายทั้งเป็น" และมันก็น่าสงสารสำหรับคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องตกอยู่ในวังวนนี้ ส่วนมนุษย์ไหลตามน้ำก็คงจะไม่เป็นไร ดังนั้งนะครับสำหรับผมมนุษย์จึงมีอยู่สองพวกใหญ่ๆเท่านั้น ซึ่งมีพวกไหนบ้างนั้นก็ต้องติดตามในอีกบทความซึ่งไม่รู้จะเขียนวันไหนนะครับ(แล้วแต่อารมณ์ผู้เขียน) และมาเข้าเรื่องกันต่อ ค่านิยมแบบไหนนะที่ทำให้คนเราต้องติดในวังวน ผมขอแยกง่ายๆนะครับ


  • ผูกมัดอนาคต ค่านิยมแบบนี้มันเหมื่อนกับการเดินทางโดยรถประจำทางน่ะครับ คือคุณเลือกเป้าหมายได้แต่เลือกทางผ่านไม่ได้ ค่านิยมอันนี้เนี่ยมันผูกมัดต่อการกระทำของเราที่หวังผลระยะยาวในอนาคต อาทิเช่น หากคุณอยากเป็นทนาย คุณต้องไปเรียนวิชานั้นวิชานี้ กำหนดเรียนกี่ปี กี่เดือนก็ว่ากันไป แต่ที่น่าจะอึดอัดแบบสุดๆก็คือ ต้องเรียนสถาบันนั้น สถาบันนี้นี่สิ ที่เรียกว่าข้อผูกมัดที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะการเป็นทนายคุณต้องเรียนกฏหมายนั้นถูกต้อง แต่ทว่าวิชานี้มันกลับขึ้นอยู่ที่ผู้อ่านจะอ่านศึกษาเอง ดังนั้นต่อให้คุณเรียนสถาบันดีแค่ไหนแต่คุณไม่ศึกษาให้ดีไม่ต้องใจพอกพูนความรู้ ก็บอกได้คำเดียวว่าคุณก็แค่พวกตามกระแสเท่านั้นเอง ไม่เกิดประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น เพียงแค่สังคมเข้าเชื่อว่ามันดีอย่างนั้น และยังจะเชื่อต่อไปว่ามันจะดีอย่างงี้
  • ผูกมัดอดีต อันนี้ไม่ใช่สิ่งไม่ดีเสมอไปนะครับ เพราะมันก็คือประเพณีดั้งเดิม แต่เก่ามานั่นเอง เรต้องทำตามระเบียบที่กำหนดมาแต่โบราณทั้งๆที่มันอาจจะไม่เข้ากับยุคสมัยแล้วก็ได้ แต่เราต้องปฏิบัติเพราะเป็นเอกลักษณ์ของชาติ อันนี้ก็ว่ากันไม่ได้ แต่ก็มีที่ไม่ดีเช่นกัน อาทิ การคลุมถุงชน ที่ออกจะดูเผด็จการและจำกัดสิทธิเสรีภาพของคนจนเกินไป ซึ่งสมัยนี้เขาไม่ยอมรับความเป็นเผด็จการกันแล้ว พูดถึงเรื่องนี้แล้วของขึ้น ถ้าสนใจเรื่องเผด็จการล่ะก็ผมอาจเขียนก็ได้ไม่วันใดก็วันนึงนะครับ
  • ผูกมัดปัจจุบัน อันนี้ก็ต้องเรียกว่าเทรน คุณจะทำอะไรยังไงคุณต้องมีกระแส ติดตามข่าวสารหรือแฟชั่นก็ดี นี่คือปัจจุบันมันก็จะผูกมัดเราอยู่ ถ้าเราปฏิบัติตัวอย่างพอดีมันก็ดี แต่ถ้าโอเวอร์มันก็จะเกินงาน หรือเรียกว่าพวกจัดจ้านเลยก็ได้

สรุปทิ้งท้าย

พล่ามกันมายาวๆทั้งหลายเหล่านี้จริงๆแล้วผมเพียงต้องการสื่อความหมายสั้นๆง่ายๆว่า "ชีวิตคุณ คุณเลือกเอง จะผิดจะถูกอยู่ที่คุณเลือกสังคมเลือกให้ไม่ได้" ในบางครั้งคุณอาจจะถูกหาว่าโง่หรือบ้าก็ตามแต่ ถ้าหากคุณเลือกแล้วก็อย่าถ้อถ่อ และจงซื่อสัตย์กับใจเราให้มากที่สุด ข้อผูกมัดใดๆก็แล้วแต่แก้ไขได้หากคุณแสดงให้เห็นว่าถึงคุณไม่ได้ผูกมัด คุณก็ประสบความสำเร็จได้ สำหรับบทความนี้คงต้องลาไปก่อนนะครับ ธรรมะสวัสดีครับ

ศ. อิสรา

วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2556

การศึกสา(ษา)มานย์

การศึกษา(สา)มานย์

การศึกษาจะช่วยสร้างเยาวชน

ให้เป็นคนผู้พัฒนานำพาชาติ

เด็กวันนี้อาจเติบใหญ่กลายเป็นปราชญ์

ผู้สามารถสร้างจรรยาในสังคม

แต่วันนี้การศึกษากลับไม่ใช่

เพราะไปใฝ่ทุนนิยมอันรสขม

ละลายตัวกลายเป็นทุนโสมม

ให้ระทมทั่วทุกข์แก่ผู้เรียน

เผด็จการร้ายแฝงทุกหย่อมหญ้า

ลุ่มหลงบ้าอำนาจใจผิดเพี้ยน

การกดขี่บ่มขึ้นในโรงเรียน

ทั้งแนบเนียนซึมซับสู่ครอบครัว

พอมีแรงเปลี่ยนแปลงก็ต่อต้าน

ขายวิญญาณเสียสิ้นน่าปวดหัว

คนเหล่านี้ถูกทำลายความคิดตัว

ให้เมามั่วอยู่ในห่วงอัปรีย์การ




กวีตกดิน

สหายร่วมอุดมการณ์

สหายร่วมอุดมการณ์

สหายเอ๋ยผู้อยู่ร่วมอุดมการณ์

จะกังวานด้วยเสียงใจนำสายเลือด


ทั้งซึมซาบศรัทธามิแห้งเหือด


แล้วดาลเดือดลุกสู้ให้สุดตัว


เราต่อสู้เพื่ออนาคตอันสดใส


เราใช้ใจนำทางเห็นดีชั่ว


เราสำนึกตรึกตรองไม่เมามัว


เราไม่กลัวพวกมารมาราญรอน


ลุกออกเถิดพี่น้องผู้ใจหาญ


เรามาผลาญระบอบเก่าแล้วเริ่มสอน


เราจะเป็นแสงสว่างทินกร


จะไม่ย้อนหันหลังเข้าอธรรม


เราทะยานหยัดสู้ผลัดสมัย


จะไปให้ไกลเดินหน้าไม่กลับซ้ำ


เราจะเป็นขบถต่อความชั่วสาริยำ


แล้วจะพร่ำอุดมการณ์ในหัวใจ


กวีตกดิน

ทุนโสมม


ทุนโสมม


ผูกขาดเงินบริโภคเห็นส่วนชั่ว


จิตเมามั่วอยู่ในขั้วของเงินตรา


บูชาเงินเคารพทองน่าระอา


ทิ้งธรรมมาเข้าไปหาทุนนิยม


มีทุนรอนหนึ่งบาทจนหนักหนา


ก็ไม่พาความสงบพบสุขสม

ทุนโลภมากพาใจคนโสมม

โลกระทมสังคมเราเน่าถึงใน


ทุกวันนี้อำนาจทุนอยู่มากล้น


บัญชาคนจงยอมก้มหัวให้


สูญสิ้นตัวของตนอันเป็นผไท


นี่แหละไซร้สังคมทรามตามแหล่งทุ


กวีตกดิน

วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2556

ความไม่รู้ประวัติศาสตร์ ตอน อภินิหารตำนานแห่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์


 ความไม่รู้ประวัติศาสตร์

ตอน อภินิหารตำนานแห่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์

"ไม่เชื่ออย่าลบหลู่"วาทะกรรมนี้ถือเป็นวาทะกรรมคู่บ้านคู่เมืองของชาวไทยเราอย่างยาวนาน แทบจะทุกคนในประเทศได้ยินวาทะกรรมนี้จากพ่อแม่ปู่ย่าตายายและครูบาอาจารย์ตั้งแต่เด็กจนจะลงโลง เรียกว่าเป็นคำสอนขั้นพื้นฐานเลยทีเดียวสำหรับสังคมไทยเรา ซึ่งแน่นอนผมก็ถูกสอนมาแบบนั้น และไม่สามารถเถียงได้เลยถึงแม้อยากจะเถียงใจจะขาด เพราะมันเป็นวาทะกรรมที่คลุมเครือมาก คลุมเครือยังไง อย่างแรกคืออะไรคือเชื่อไม่เชื่อในความหมายของสิ่งนั้นๆ และอะไรคือมาตรฐานชี้ว่านั่นคือการลบหลู่ บางครั้งแค่การตั้งคำถามและอธิบายปรากฏการณ์นั้นๆก็กลายเป็นว่าลบหลู่เสียแล้ว อาทิเช่น ไอทีวีที่ทำเรื่องเกี่ยวกับบั้งไฟพญานาคก็ถูกรุมด่าว่าไปลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเป็นเหตุให้ไอทีวีปิดตัวลงเพราะไปลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งที่ความจริงไม่ใช่เลยไอทีวีนั้นมีปัญหามานานมากแล้วและเป็นปัญหาด้านกิจการไม่เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์แม้แต่น้อยครับ แต่แค่นี้ก็กลายเป็นประเด็นของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ ด้วยคนไทยจำนวนมากยังคงเชื่อถือยึดถืออะไรบางอย่างที่เรียกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้อย่างไม่แยกแยะ ผมก็เลยคิดว่าถ้าเราแยกแยะออกน่าจะดีมากเลย ผมก็เลยคิดว่าน่าจะลองย้อนไปดูประวัติศาสตร์อย่างความไม่รู้ซักหน่อยก็น่าลองดูนะครับ

ผมนึกย้อนไปในอดีตอันไกลโพ้น เรื่องที่เกี่ยวกับอารนธรรมอันยิ่งใหญ่นั่นคือกรีกโบราณ เรารู้กันดีว่ากรีกโบราณนั้นยิ่งใหญ่ขนาดไหนมีวิทยาการความรู้ที่ก้าวหน้าเพียงใดแต่ว่าที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้คือชาวกรีกเนี่ยเป็นพวกที่งมงายอาจจะเรียกว่าที่สุดในยุคนั้นเลยก็ว่าได้ งมงายยังไง ก็งมงายชนิดที่ว่าเห็นนกฮูกตอนกลางวัน มีนกตกลงมาจากฟ้าก็ดีเกิดเมฆดำแปลก มีผลไม้ประหลาด ก็ตั้งกลุ่มรวมตัวกันเพื่อวิพากวิจารณ์หาคำตอบ (เอ๊ะดูคุ้นๆมั้ยนะ) บางครั้งก็มองไปถึงการทำนายทายทักอนาคตขึ้นซึ่งจะดีจะร้ายก็ว่ากันไป ถ้าดีหน่อยก็เป็นที่โล่งใจของชาวบ้าน ถ้าร้ายหน่อยก็ตื่นตระหนกหวาดกลัวกันยกใหญ่รีบหาทางแก้ และที่สำคัญครับที่กรีกเนี่ยบูชาเทพเจ้าอะพอลโล่ชนิดที่เรียกว่าเชื่อเป็นที่สุดเลย โดยจะมีผู้แทนซึ่งเรียกว่าอะไรนั้นผมก็จำไม่ได้คอยติดต่อกับเทพเจ้าแล้วล่งคำทำนายมาให้พวกเขาแล้วทุกคนก็จะทำตามคำทำนายของเทพเจ้าแบบที่เรียกว่าเทพเจ้าต้องการอะไรเขาก็จะทำทั้งนั้น(อันนี้ก็คุ้นๆนะ) นี่ถือเป็นเรื่องที่มีความขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชื่องในอารยธรรมโบราณครับ ซึ่งอารยธรรมนี้มีมาการประวัติศาสตร์ชาติไทยนานนัก เรามาดูที่ใกล้กว่านิดนั่นคืออารยธรรมมายา ถ้าพูดถึงตรงนี้หลายคนคงนึกถึงปฏิทินมายาที่กล่าวถึงวันสิ้นโลกนะครับ แต่สุดท้ายก็เป็นการลวงโลก อารยธรรมมายาก็เป็นอารยธรรมที่น่าสนใจมากแห่งหนึ่ง เพราะเป็นแหล่งรวบรวมความรู้วิทยาการอย่างน่าอัศจรรย์ แต่ว่าชนเผ่านี้เองซึ่งก็รวมถึงอินคาและแอชเทค ก็มีความเชื่อเรื่องเทพเจ้าอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ถึงขนาดสังเวยมนุษย์เพื่อความพึงพอใจของเทพเจ้าด้วย และที่สำคัญคือมีร่างทรงมีผู้ติดต่อกับเทพเจ้า และนี่คือสิ่งที่ผมก็ยังคงสงสัยครับ เพราะว่าโลกยุคโบราณขาดการติดต่อกันอย่างสิ้นเชิง แต่กลัวมีหลายอย่างที่เหมือนกันคือ ต้องมีพ่อมด หมอผี มี่ร่างทรง มีตัวแทนเทพเจ้า สารพัดไปหมด รึว่านี่เป็นเรื่องจริงสิ่งเหนือธรรมชาติอาจมาในรูปแบบนั้นจริงๆ นั่นก็พิสูจน์ไม่ได้ครับ แต่ว่ากระนั้นก็ดีมายาก็นับถือเทพเจ้าเขามากจริงๆ ไม่ว่าจะเกิดภัยแล้ง โรคระบาด หรือภัยพิบัติต่างๆ พวกเขาล้วนต้องการความช่วยเหลือจากเทพเจ้าทั้งสิ้นด้วยการบูชายันต์หรือพิธีกรรมอะไรก็แล้วแต่ของเขานะครับ ซึ่งตรงนี้มีจุดร่วมกันครับว่าสุดท้ายแล้วสองอารยธรรมนี้ก็หายไป กรีกถูกโรมันทำลาย อินคา มายา แอชเทคก็ถูกสเปนจัดการ ยิ่งไม่ต้องถามว่าเทพเจ้าพวกเขาไปอยู่ไหน ตอนนี้ก็อยู่ในหนังในการ์ตูนครับ ฉันใดก็ฉันนั้นครับการที่อารยธรรมถูกทำลายเทพเจ้าก็ถูกทำลายไปด้วย ความเชื่อเองก็หายไป เป็นไปตามหลักอนิจจลักษณะ

เอาล่ะครับไปดูอดีตอันไกลโพ้นมาแล้วก็มาดูใกล้ๆของคนไทยเรา หรือประวัติศาสตร์สยามนั่นเอง ผมอยากให้เข้าใจว่าเราได้รับอิทธิพลทางด้านความคิดส่วนใหญ่มาจากพราหมณ์-ฮินดู และก็ขอมนะครับ ซึ่งมีความเชื่อเรื่องเทวนิยม ตรงกันข้ามกับพุทธที่เป็นอเทวนิยม ทั้งที่เราบอกว่าเราเป็นชาวพุทธ แต่เรากลับไปเชื่อในเทวนิยมซึ่งมันขัดกันอยู่ในที มีอาจารย์ท่านหนึ่งเคยบอกกับผมว่าจริงๆแล้วชาวพุทธเราต้องยึดถือการกระทำเป็นที่ตั้ง แต่ว่าในความเชื่อเราเนี่ยจะทำอะไรแล้วยังต้องขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเสริมสร้างกำลังใจ นี่ผมถือว่าเป็นคำอธิบายที่ดีอย่างหนึ่งครับในการอธิบายการกระทำที่ขัดต่อหลักศาสนานี้ แต่ว่าเราต้องมาดูกันระหว่างการเสริมสร้างเพื่อกำลังใจซึ่งผมขอเรียกว่า"เชื่ออย่างบริสุทธิ์"กับ"เชื่ออย่างดัดจริต" เชื่ออย่างบริสุทธิ์เป็นยังไงคืออย่างนี้ครับ คือการเชื่ออย่างไม่มีอะไรแอบแฝงเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้ใฝ่ดี ทำดี มีสัมมาทิฐิ ซึ่งนี้เป็นความเชื่ออย่างน่าเอาเยี่ยงอย่าง ส่วนการเชื่ออย่างดัดจริต คือการเชื่อแบบตามๆกันมา แบบเขามาว่าก็ว่าตามกัน เชื่อเพราะคนส่วนใหญ่เชื่อ เชื่อเพราะคนบอกว่าดี แบบนี้เป็นการเชื่อแบบขาดสติวิจารณญาณโดยไม่ถือกาลามสูตรเป็นที่ตั้ง และที่สำคัญมีลักษณะของการเชื่อโดยใช้มิจฉาทิฐิคือเชื่อเพราะความโลภ เช่นการขอหวย บนบานศาล และเชื่อแบบหลับหูหลับตาคลำเอาว่าดี หรือแม้แต่มีจิตใจคิดร้ายต่อผู้อื่นก็ยังมีแบบนี้ก็กลายเป็นอวิชชาสิ้น ทั้งหมดนี้เป็นการเชื่อแบบดัดจริตทั้งสิ้น แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรคือสิ่งดีและไม่ดี อันนี้ง่ายๆครับคือถามใจเราเองว่านั่นดีแล้วหรือยังจริงค่อยเชื่อ และชั่งน้ำหนักการกระทำเราว่าเหมาะสมมั้ย เอ๊ะนี่จะกลายเป็นบทความศาสนาแล้วล่ะเอาล่ะครับวกกลับมาประวัติศาสตร์กันดีกว่า ไทยเราดั่งเดิมเนี่ยยึดถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้านประจำเมือง มีเยอะแยะมากมายตามแต่ละพื้นที่ และในแต่ละภูมิภาคก็มีลักษณะการเชื่อที่ต่างกันบ้าง มีตำนานที่ต่างกันบ้างพอเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งตรงนี้ผมไม่ติดใจอะไรหรอกครับเพราะในอดีตมันไม่มีหวย ไม่มีลอตเตอรี่ แต่ที่ผมติดใจคือทำไมเมื่อพูดถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วเราต้องขอหวยครับ ใครเป็นผู้ริเริ่ม วัฒนธรรมนี้เกิดขึ้นตอนไหน ซึ่งผมก็คิดว่ามันน่าจะเป็นความเชื่อที่อยู่นอกเหนือจากอดีตครั้งแต่ทวารวดีแล้วล่ะครับ เพราะเอาไปเอามาสิ่งศักดิ์สิทธิ์สามารถบอกใบ้ให้หวยได้ สามารถแสดงปาฏิหาริย์ที่ตีเป็นตัวเลข แหม่และก็น่าแปลกอีกครับ ที่เวลาเราดูข่าวแล้วเจออะไรแปลกๆเข้าหน่อยเช่นปลีกล้วยมีขนาดใหญ่มากกว่าปกติ ไม่เกินวันสองวันก็จะมีประชาราษฎรจากไหนก็ไม่รู้มาอยู่ใต้ต้นกล้วยเต็มไปหมด แล้วก็จะเริ่มมีผ้าหลากสี ธูปเทียน และหนักเข้าหน่อยมีร่างทรงมาเข้าทรงว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตในสิ่งนั้นๆ และพอถึงตรงนี้ก็ต้องตั้งข้อสงสัยอีกอย่างว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี่สามารถเลือกที่สถิต ในไหนก็ได้หรือ ในปลีกล้วยหรือในเขาไม้ก็สามารถอยู่ได้ ผมก็ว่ามันน่าแปลก ซึ่งตรงนี้มันแสดงว่าเราเชื่ออะไรแบบขาดวิจารณญาณโดยสิ้นเชิงย้ำว่าโดยสิ้นเชิงนะครับ เพราะเราต้องดูให้มันเหนือกว่าว่าเป็นปาฏิหาริย์ แต่ให้ดูว่าเป็นสิ่งผิดปกติ เป็นวิวัฒนาการบ้างก็อาจจะดี เพราะหากเรามองว่าปลีกล้วยเอย หมูสองหัว หมาสามขา หรือตุ๊กแกสี่หางก็ดีเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์หมด ผมว่าแมงกระพรุน Turritopsis nutriculaก็คงเป็นสุดยอดแห่งปาฏิหาริย์สิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วล่ะครับ เพราะสัตว์ชนิดนี้มีอายุขัยเป็นอมตะกล่าวว่าเมื่อมันมีอายุได้มาระดับหนึ่งมันก็จะลดอายุลงเป็นเด็กอีกครั้ง ถ้าสัตว์แปลกๆ พืชแปลกๆคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ผมว่าสัตว์ชนิดนี้อยู่หเนือกว่านั้นครับ 




          มาดูภาพนี้กันครับ ภาพนี้เป็นภาพปรากฏการณ์เมฆนาคาของพระธาตุพนมที่จังหวัดนครพนมนะครับ ครับพระธาตุก็ไม่มีอะไรหรอกครับ แต่เหนือพระธาตุนี่สิแปลก ภาพนี้เนี่ยถูกเผนแพร่ทางเพจเพจหนึ่งในโซเชียลเน็ตเวิร์ค โดยผู้เผยแพร่อ้างว่าเป็นปราฏิหาริย์ของพระธาตุให้ช่วยกันไลค์ช่วยกันแชร์ ผมว่านี่เป็นเรื่องตลกร้ายอย่างไม่น่าเชื่อครับ ว่าแค่การไลค์การแชร์ในเฟสบุ๊คที่เพิ่งเกิดมาได้ไม่กี่ปีกลายเป็นการสร้างผลบุญสร้างบารมีให้โชคให้พรไปเสียแล้ว มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กคงกลายเป็นเทพเจ้าแล้วแน่เชียว ประเด็นหนึ่งอย่างที่ผมเห็นอยู่ตรงนี้ครับคือการโปรโมทธุรกิจของตัว การโปรโมทเพจของตัวเองโดยใช้วิธีนี้ไม่ค่อยถูกต้องเท่าใดนัก เพราะว่ามันเหมือนเป็นการผลิตซ้ำตอกย้ำความงมงายของชาวบ้านมาเป็นเครื่องมือของตัวเอง โดยแทนที่จะเป็นผู้สร้างปัญญาให้กับสังคม นี่ไม่ต้องพูดถึงความจริงความเท็จของภาพนะครับ เพราะที่เห็นในภาพว่าเหนือพระธาตุแปลกแล้ว แต่ใต้พระธาตุมากกว่า ดูสิครับผู้คนที่อยู่ภายใตร้พระธาตุกับดูสงบเรียบร้อยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นแถมแต่ละคนยังมีสีหน้าที่ไม่สะทกสะท้านกับอะไรที่เกิดขึ้นบนยอดพระธาตุเสียด้วยซ้ำ และยังบังแดดกางร่ม เอาผ้ามาคลุมกันอีก ทั้งที่เมฆครึ้ม มีฟ้าผ่าขนาดนั้น แต่ประชาชนที่อยู่ข้างล่างกับเดินอย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาวอะไรเลย ผมว่ามันคงเป็นเรื่องที่แปลกเกินไปแล้วล่ะครับ และแปลกกว่าเมฆแบบนั้นด้วย แต่ว่านะครับเรื่องมันไม่หมดเท่านั้น ก็มีการถกเถียงว่านี่เป็นของจริงไม่ตัดต่อ แต่ก็มีหลักฐานอยู่แล้วว่าตัดต่อ บ้างอ้างว่าพระธาตุพนมมีตำนานเรื่องของพญานาคอยู่แล้วเกิดปรากฏการณ์นี้ไม่น่าแปลก ครับผมก็ว่างั้นปรากฏการณ์มันไม่น่าแปลกแต่คนเบื้องล่างน่าแปลกที่สุดเลย นี่ครับถือเป็ตัวอย่างการเชื่อแบบชนิดว่าตามๆกันมานั่นเอง ซึ่งด้วยความไม่รู้เบื้องลึกอะไรเลยในรากเง้าของชนชาติไทยผมก็พูดมากไม่ได้ว่าอันนั้นจริงอันนี้เท็จ แต่ผมคิดว่าวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนไทยคือวิถีพุทธการใช้ปัญญาเป็นที่ตั้งควรที่จะกลับมาครับ ขอให้ความเป็นไทยที่แท้กลับมาเถอะครับผมอยากจะเห็นแบบนั้นซักครั้ง

          ครับสำหรับปิดท้ายแน่นอนว่าก็จะสรุปกันซักหน่อยเพราะที่ร่ายยาวมาก็เป็นแค่การเล่าสู่กันฟังเท่านั้น สรุปของผมง่ายๆครับว่าความเชื่อ สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ยากเพราะมันเกิดภายใต้จิตใต้สำนึกของมนุษย์ และการที่เราจะเชื่อไม่เชื่อเราควรตั้งคำถามก่อนครับ ตั้งข้อสังเกตุถามเจตนาของเรา ดูที่วัฒนธรรมรากเง้าของเราที่แท้ ชาวไทยเราอยู่กับเกษตรกรรมครับไม่อยู่กับเทวดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี่คือรากเง้าขริงแท้เราแน่นอน และการตั้งคำถามข้อสังเกตไม่ถือว่าเป็นการลบหลู่ครับ การลบหลู่น่าจะเป็นการท้าทายเชิงหยาบคายเสียมากกว่านะครับ ดังนั้นผมจึงของให้ทุกท่านใช้สติก่อนสตาร์ทครับ  สวัสดีครับ

                                                                                                                                      เมฆอิสระ















แมงกระพรุน Turritopsis nutricula ครับ



ความไม่รู้ประวัติศาสตร์ ตอน สามก๊ก





ความไม่รู้ประวัติศาสตร์


ตอน สามก๊ก



ครับสำหรับก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาของบทความนี้นั้นผมต้องบอกว่าการที่ผมเขียนบทความแต่ละครั้งนั้นประหนึ่งเหมือนเขียนไดอารี่เตือนความจำตัวเองว่าในขณะหนึ่งนั้นเราได้คิดถึงเรื่องอะไร มีจุดยืนแบบใด สนใจเรื่องใด ซึ่งตรงจุดนี้จะสำคัญมากนักในการตัดสินใจอะไรหลายๆอย่างในอนาคต ผมจึงได้พยายามเขียนบทความเก็บไว้ จะเสร็จก็ดีหรือไม่เสร็จก็ดีดีนะครับ ก็ถือว่าได้เขียนได้เตือนความจำตัวเองเอาไว้ในจุดนั้นแล้ว

สำหรับบทความนี้นั้นก็ไม่มีอะไรมากครับ เป็นสิ่งที่ผมอยากจะเขียนมานานแล้วแต่หาเวลาและโอกาสไม่ได้ซักที(หรืออาจเป็นเพราะความขี้เกียจ) ซึ่งเรื่องนี้ก็ผมเห็นว่าสำคัญมากต่อการพัฒนาความคิดของตัวเองสู่โลกแห่งข้อมูลข่าวสารอันหลากหลาย ทั้งที่บริสุทธิ์และทั้งที่มีพิษ นั่นคือเรื่องของประวัติศาสตร์ครับ

จะว่าเป็นความโชคดีหรือโชคร้ายก็ได้ที่ผมไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องของประวัติศาสตร์นัก ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ไทยก็ดี หรือสากลก็ดี ซึ่งตรงจุดนี้ผมขอพูดถึงข้อดีซะก่อน ข้อดีคือมันทำให้ผมไม่ค่อยเข้าใจนักต่อสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญเขาถกเถียงกัน ผมมองไม่เห็นหลุมพราง ความเสแสร้งหรือความโกหกตอแหลของผู้บันทึกประวัติศาสตร์ มันจึงทำให้ผมอ่านประวิตศาสตร์อ่านงานเขียนได้สนุกเสมอราวกับว่านั่นคือเรื่องจริง และในตรงจุดนี้มันทำให้ผมตัดสินถูกหรือผิดไม่ได้ผมอยากจะรู้อะไรผมก็หาอ่านเท่านั้นเอง ไม่มีปัญหาเรื่องความจริง(Fact)หรือความเท็จ(False) ซึ่งในจุดนี้เนี่ยก็ทำให้สบายใจในระดับหนึ่ง แต่ในส่วนข้อเสียเนี่ยผมคิดว่ามันทำให้ผมไม่มีน้ำหนักพอที่จะพูดเรื่องพวกนี้เท่าใดนัก เพราะว่าผมไม่ใช่ผู้แสวงหาความจริงทางประวัติศาสร์ ผมไม่มีข้อมูลที่แน่นพอที่จะไปงัดไปแย้งกับเขา ผมก็เลยเป็นได้เพียงคนฟังที่จะมีปฏิกิริยา(Reaction)ต่อประเด็นนั้นๆได้นัก อย่าเรื่องประเด็นของสามก๊กว่าขงเบ้งจงรักภักดีต่อเล่าปี่จริงมั้ย หรือเรื่องว่าเล่าปี่กับโจโฉใครเลวใครดีอะไรทำนองนี้ ซึ่งตัวผมเนี่ยก็อ่านสามก๊กแบบพอผ่านๆไม่จริงจังเอาความรู้ข้อเท็จจริงอะไรมาก ก็เลยตัวสินไม่ได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ได้แต่ดูเขาเอาข้อมูลมาวัดกันซึ่งผมคิดว่ามันไม่มีความหมายอะไรเลยที่จะเอาประเด็นพวกนี้มาจุดกันขึ้น เพราะอะไร เพราะว่าสามก๊กในปัจจุบันที่เราอ่านกันอยู่คือฉบับแปลในยามบ้านเมืองไม่สงบต้องการความเป็นเอกภาพ ซึ่งจุดนี้ก็รู้กันอยู่ แต่ก็ยังมีการดึงหลักฐานเอาข้อมูลมาแย้งกันด้วยประเด็นต่างๆว่า บางทีวรรณกรรมอาจจะจริงที่สุดเพราะมาจากปากชาวบ้าน แต่ที่จดหมายเหตุเป็นการกุเรื่องขึ้นหรือหลอกลวง(Fake)นั่นเอง ซึ่งในจุดนี้ผมคิดว่าในเหตุผลตรงนี้เป็นอะไรที่ไม่ชอบด้วยตรรกะ ไม่ชอบด้วยตรรกะเพราะอะไร เพราะว่ามันมีการแบ่งไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าอันนี้คือจดหมายเหตุนะ อันนี้คือวรรณกรรม ค่าน้ำหนักมันชัดเจนในตัวของมันในรูปแบบอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น พิธีการสาบานเป็นพี่น้องกันซึ่งผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ก็ย่อมรู้อยู่แล้วว่ามันเป็นธรรมเนียมที่เรื่อมขึ้นในภายหลัง หรือการดีดพิณลวงสุมาอี้ของขงเบ้งก็ตามนะครับ ในตอนนี้ผมเคยคิดขำๆในตอนที่อ่านสามก๊กแรกๆว่า"ถ้าขงเบ้งมันโง่ดีดพิณอยู่คนเดียวบนกำแพงทำไมไม่เอาธนูยิงไปเลยวะ" แต่ผมก็ฉุกใจขึ้นว่ามันเป็นธรรมเนียมสงครามรึเปล่าที่ไม่ยิงกันทำให้ตรงนี้เกิดความขัดแย้งในตัวผมละ แล้วมันก็นำไปสู้การตรวจสอบข้อมูล แล้วก็รู้ได้ว่า ในสถานการณ์ตอนนั้นขงเบ้งและสุมาอี้ยังไม่ได้เจอกันเลย ฉากในตอนนั้นเป็นเพียงสิ่งที่เพิ่มในการทำเป็นงิ้วเท่านั้นเอง นี่ยิ่งต้องทำความเข้าใจไปใหญ่ว่าเมื่อสามก๊กมีลักษณะเป็นประวัติศาสตร์ในยุคๆหนึ่ง ซึ่งมีความเฉพาะของตัวเอง และยังคงเป็นนิทาน เป็นหลักวิชา เป็นการละเล่นการแสดงในรูปแบบต่างๆแล้ว มันย่อมจะปฏิเสธไม่ได้ว่าความจริงที่อยู่ในตัวของมันเนี่ยคงค่าเหลืออยู่น้อยมากๆในส่วนที่ไม่ใช่บันทึกทางประวัติศาสตร์ เพราะถ้าว่าผู้บันทึกในสมัยนั้นลำเอียงเข้าข้างแล้วล่ะก็ ผู้ที่ศึกษาจะต้องเห็นได้ชัดอยู่แล้วว่าเอนเอียงไปทางไหน แล้วเราต้องเลือกเชื่ออย่างไร ตรงนี้ผมคิดว่ามันมีกระบวนการของนักประวัติศาสตร์อย่างเขาที่จะเข้าใจ และการจะอ้างว่าเราไม่ได้เกิดในยุคเดียวกันเราไม่รู้หรอก นี่ถือเป็นข้ออ้างที่ใช้ได้ครับหากแต่นั่นเป็นข้ออ้างในกรณีที่เป็นประเด็นขาดพยานหลักฐาน ทั้งในด้านวัตถุก็ดี จารึกก็ดี ดังนั้นเมื่อฉุกคิดในประเด็นความสมบูรณ์ในเรื่องของมันแล้วมันคือเสน่ห์ของประวัติศาสตร์ครับที่เราไม่สามารถเชื่อได้เต็มที่ว่านั่นคือจริงหรือนี่คือเท็จ แต่สิ่งที่จะเห็นได้ชัดว่าสังคมนั้นยอมรับที่จะเอาอะไร และไม่เอาอะไร นี่ต่างหากคือภาพสะท้อนของการเลือกข้างทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งอาจมาจากมุมมองด้านคุณธรรม จริยธรรม  หรือมุมมองด้านข้อมูลข่าวสารก็ดี มันก็เป็นผลึกที่ชัดเจนแล้วว่าสังคมเลือกอะไรที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และโดยเฉพาะสามก๊กที่ถูกเรียกว่าเป็นสรรพวิชาแหล่งรวบรวมคติสอนใจไว้อย่างเฉียบคมและไม่เคยหล้าสมัย

อันว่าสามก๊กนั้นคือประวัติศาสตร์ของสามอาณาจักรที่พวกเราทุกคนรู้อย่างดีแล้วว่าเป็นเรื่องราวที่เข้มข้นสนุกสนาน ซึ่งผ่านมือกวี นักประพันธ์มาหลายคนนัก และที่ถูกกล่าวขานมากที่สุดคือ หลอกว้านจง และเหมาจงกัง ซึ่งทั้งสองคือผู้ให้กำเนิดสามก๊กแบบที่เราๆเข้าใจกันในปัจจุบัน แล้วทีนี้ผมต้องการอะไรกับเรื่องนี้ สิ่งที่ผมต้องการคือการแยกแยะวรรณกรรมออกจากความจริง และแยกความจริงออกจากความรู้ เมื่อเราแยกทั้งสามออกจากกันแล้วเนี่ยเราจะอ่านสามก๊กได้อย่างมีความสุขมากเลยโดยที่ไม่ต้องไปด่าคนนู้นว่าเป็นอย่างนี้ ด่าคนนี้ว่าเป็นอย่างนั้น หนักข้อเข้าหน่อยก็ไปด่าผู้อ่านที่คิดไม่ตรงกับเราเข้าอีก ซึ่งนี่เป็นความขัดแย้งเล็กๆในระดับหนึ่งครับ เอาล่ะครับคราวนี้ผมจะใช้ความที่ไม่รู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของผมเลยไม่เข้าใจนักประวัติศาสตร์เลยมาแยกประเด็นออกดังนี้ครับ

วรรณกรรมอันความเป็นวรรณกรรมนั้นคือเรื่องราว เรื่องเล่า ที่แต่งขึ้นเพื่อเป็นข้อคิด เป็นคติสอนใจ หรือเป็นเรื่องที่ใช้อ่านบันเทิงคลายเครียด ซึ่งในจุดนี้เรามองสามก๊กว่าเป็นวรรณกรรม คือทุกคนเข้าใจตรงกันว่าสามก๊กเป็นวรรณกรรม แต่เราก็แยกไม่ออกในความเป็นวรรณกรรมกับความจริง เพราะอะไร เพราะเราถูกป้อนข้อมูลในหัวว่านี่คือเรื่องจริงนะ นี่คือสิ่งที่บรรพบุรุษทำมาให้เราศึกษาเพื่อเป็นประโยชน์นะ เอาไปเอามาเราก็เถียงไม่ได้ ในตัวรูปแบบของวรรณกรรมเรื่องสามก๊กเนี่ย ถูกแปลโดย เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ซึ่งเป็นนโยบายของราชสำนักในพระบามสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่ต้องการให้มีตำหรับตำราด้านพิชัยสงคราม เป็นหนังสือที่ไว้ให้ศึกษาสร้างกำลังใจฮึกเหิม สร้างความเป็นชาตินิยม อาจกล่าวได้ว่าการป้อนข้อมูลชาตินิยมได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น หรืออาจนานกว่านั้นไปก่อยุคสุโขทัยเสียด้วยซ้ำ เอาล่ะครับประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่ตรงนี้ มันอยู่ที่เนื้อหาสาระจริงของสามก๊กฉบับนี้ เพราะว่าฉบับนี้ตัวเอกสำคัญอยู่ที่เล่าปี่ ตัวร้ายสำคัญอยู่ที่โจโฉ เมื่อเรามองเห็นชัดเจนแล้วว่าเป็นอย่างงี้ ก็ง่ายต่อการแยกแยะครับว่ามันมีโครงมีแก่นของมันยังไง มันก็เหมือนกับละครหลังข่าวทั่วไปแหละครับ ที่ตลอดทั้งเรื่องมีอยู่มิติเดียว คือมีตัวเอกกับตัวโกง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเนี่ยมันควรจะมีหลายมิติกว่านี้ นั่นก็คือการสร้างมูลเหตุจูงใจให้กระทำสิ่งต่างๆขึ้น จะร้ายหรือดี มันน่าจะขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย นี่คือความจริงในชีวิตครับ แล้วที่นี้จะบอกว่าละครเดียวนี้ก็พยายามทำให้ตัวเอกทำเรื่องไม่ดีบ้างตัวโกงทำเรื่องดีบ้าง นั่นก็เป็นเพียงการกระทำในเชิงรูปแบบ แต่ในโครงสร้างของมันก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าธรรมะย่อมชนะอธรรม อีกนัยยหนึ่งก็จะบอกว่าผู้ชนะคือผู้ถูกต้องก็ได้ นั่นก็คือลงที่ผลแพ้ชนะอยู่ดี ซึ่งนี่ใช้วัดได้ในการอ่านสามก๊กครับ ในการที่จะดูว่าการกระทำของตัวละครต่างๆมันสมเหตุสมผลหรือไม่ อะไรมาจากความโลภอะไรมาจากความจำเป็น เราอาจมองออกไม่ได้ว่าตัวละครกำลังคิดอะไร แต่เราจะเข้าใจได้ว่าทำไมเขาถึงเลือกจะทำแบบนั้น อาทิเช่น โจโฉนะครับ โจโฉมีความเจ้าเล่ห์แพรวพราวนักทั้งในวรรณกรรมก็ใส่สีไปว่าโหดเหี้ยมบ้าง เลวทรามบ้าง นั้นก็ว่ากันไปตามสีสันวรรณกรรม แต่เอาเข้าจริงอ่านในวรรณกรรมเราก็จะเข้าใจได้ว่าทำไมโจโฉต้องฆ่าแปะเฉีย ทำไมโจโฉต้องฆ่านายกองเสบียงของตัวเอง เพราะมันมีเหตุจำเป็นกระชั้นชิดเร่งด่วนให้กระทำ ซึ่งเราจะใช้สายตาในปัจจุบันตัดสินไม่ได้ และมีอีกประเด็นนึงที่ทำให้โจโฉโดนประโคมด่ายกใหญ่คือการฆ่านางตังกุยหุย และฮกฮองเฮา ด้วยสาเหตุอะไรผมไม่ขอเล่านะครับมันจะยาว ในเหตุการณ์นี้เนี่ยถ้ามองด้วยสายตาคนยุคปัจจุบันอาจมองว่าเลวร้าย ชั่วช้าสามานย์อะไรต่างๆเนี่ย แต่ในสายตาคนในยุคนั้นอาจถือว่าเป็นการตัดสินใจที่จำเป็นก็ได้ เพราะมันไม่ใช่ยุคแห่งข่าวสารข้อมูล ศัตรูที่อยู่ในที่ลับก็ยากจะหาพบ และการประหารทั้งชั่วโคตรถือเป็นปกติวิสัยของคนในสมัยนั้นมากๆ ดังนั้นโจโแผู้มีอำนาจในขณะนั้นอาจไตร่ตรองไว้ดีแล้ว และอาจจะรู้ว่าต้องมีเสียงกร่นด่าในภายหลัง ฉันใดก็ฉันนั้นครับ กับประเด็นเล่าปี่ที่หลายคนชอบนักชอบหนา แต่หลายคนก็เกลียดนักเกลียดหนา อย่างที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ เคยเขียนหนังสือในทางยกย่องโจโฉและด่าเล่าปี่ และอีกท่านหนึ่งคือเล่าชวนหัว แต่เขียนสามก๊กในฉบับที่แฉเละในฝั่งของเล่าปี่ ซึ่งตรงนี้ผมอยากให้มองว่าข้อมูลของท่านทั้งสองนั้นมีน้ำหนักมากแต่ว่าด้วยอคติก็เลยทำให้ข้อมูลนี้มันเข้มข้นขึ้นแต่มันไม่เป็นธรรมกับเล่าปี่คนที่ตายไปเกือบสองพันปีแล้ว ผมมองว่าการกระทำของเล่าปี่ในหลายๆเรื่องอาจดูเสแสร้งครับแต่ว่ามันไม่ผิดที่เขาต้องทำอย่างนั้นเพราะว่าคนในยุคสามก๊กนั้นหากเป็นใหญ่ก็ต้องเสแสร้งทั้งนั้น แม้แต่ในยุคปัจจุบันก็เช่นกัน การโกหกตอแหลมีขึ้นเป็นปกติอย่างเคยชินกันอยู่ และการอ้างตัวว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ผมก็คิดว่าไม่ผิดนักถึงจะขาดหลักฐานที่ชัดเจน นอกจากต้องตรวจDNAเท่านั้น แต่ว่าต้องเข้าใจเล่าปี่นะครับ เล่าปี่กับโจโฉขึ้นสู่อำนาจในลักษณะที่คลายคลึงกันคือ การคอรัปชั่น รู้แบบกลโกงต่างๆสองคนนี้ใช้อย่างโชกโชน โจโฉใช้อำนาจเงินของพ่อเดินหน้าและใช้ความสามารถของตัวเองด้วย เนื่องจากเป็นลูกคนรวย เรียกว่ามาในเส้นทางที่เรียบกว่าเล่าปี่นัก ผิดจากเล่าปี่ที่ตัวเปล่าเล่าเปลื่อยมีเพียงแซ่เล่าพอจะใช้ประโยชน์ได้ เข้าก็ใช้ประโยชน์ตรงนั้นสร้างตัวขึ้นอย่างทุลักทุเล แต่เราก็เห็นชัดครับว่าสองคนมีความทะเยอทะยานอย่างยิ่งยวด แต่ทั้งสองก็ยังใช้วิธีสกปรกเข้ากันอยู่ดี บางคนบอกว่าโจโฉผ่าเผยกว่า ก็แน่นอนล่ะครับโจโฉมีทุนมากกว่า ทำอะไรก็ดีกว่าง่ายกว่า เพียงแต่ด้อยเรื่องชาติตระกูลเท่านั้น แต่ก็นับว่ามีกำลังทรัพย์พอตัว ดังนั้นจึงไม่ใช่ข้อเสียเปรียบเสียเท่าไหร่ ดั่งที่เราเห็นเราทราบจากข้อมูลว่าโจโฉนั้นมีอำนาจที่แท้จริงและยิ่งใหญ่มาก

เอาล่ะครับผมคิดว่าคราวนี้ผมได้แจกแจงแยกแยะให้เห็นแล้วว่าการอ่านประวัติศาสตร์ด้วยความไม่รู้มันดีมันเสียอย่างไร และได้แตกประเด็นให้เห็นในเรื่องสามก๊กแล้วว่าการที่ผมอ่านโดยไม่มีความรู้เนี่ยผมได้อะไรมาบ้าง และผมได้ใช้มุมมองอย่างไรในการมององค์รวมของสามก๊กทั้งหมด พร้อมทั้งบริบทต่างๆของเรื่องนี้นะครับ ทั้งนี้ผมพอจะสรุปย่อยอยู่ครั้งครับว่า การอ่านสามก๊กนั้นเริ่มต้นเราต้องใช้ใจอันไร้อคติอ่าน ใช้สายตาอันพอจะให้อภัยในสิ่งที่ตัวละครตัวนั้นทำ และเข้าใจว่าการตัดสินใจของตัวละครต่างๆมันอาจเป็นข้อจำกัดของยุคสมัย และความบีบบังคับก็ได้ หากคุณใช้หลักการดังนี้แล้ว คุณจะเห็นสามก๊กเป็นสัจธรรมขึ้นเยอะครับ




                                                                                                          เมฆอิสระ